ธนบัตร 10 บาท แบบ 5 มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดนับจากรุ่นแรกหลายครั้ง ทั้งหมดมีดังนี้

ธนบัตร 10 บาท รุ่น 1 ด้านหน้า
ธนบัตร 10 บาท รุ่น 1 ด้านหลัง

ธนบัตร 10 บาท รุ่น 1 ที่ด้านหน้าพิมพ์หมวดอักษรภาษาไทยและหมายเลขไทยตรงมุมซ้ายล่าง


ธนบัตร 10 บาท รุ่น 2 ด้านหน้า

ธนบัตร 10 บาท รุ่น 2 เปลี่ยนเฉพาะด้านหน้า เปลี่ยนหมายเลขตรงมุมซ้ายล่างเป็นเลขอารบิค หมวดอักษรยังเป็นภาษาไทย


ธนบัตร 10 บาท รุ่น 3 ด้านหน้า

ธนบัตร 10 บาท รุ่น 3 เปลี่ยนเฉพาะด้านหน้าโดยตัดหมวดหมายเลขตรงมุมซ้ายล่างออก แต่ที่มุมขวาบนใช้เป็นหมวดอักษรภาษาไทยและหมายเลขอารบิค


ธนบัตร 10 บาท รุ่น 4 ด้านหน้า
ธนบัตร 10 บาท รุ่น 4 ด้านหลัง

ธนบัตร 10 บาท รุ่น 4 เปลี่ยนด้านหน้าโดยเพิ่มหมายเลขธนบัตรเป็น 7 หลัก และเปลี่ยนสีด้านหลังเป็นสีไพล และไม่มีลายน้ำ


ราคาโดยประเมิน

  • ธนบัตรเปล่า ไม่มีหมายเลขและลายเซ็น สภาพ UNC ราคาประมาณ 18,300 - 19,200 บาท
  • รุ่น 1 เลขธรรมดา ลายเซ็น เภา สภาพ UNC ราคาประมาณ 18,000 - 18,500 บาท
  • รุ่น 1 เลขธรรมดา ลายเซ็น เภา สภาพ VF ราคาประมาณ 5,900 - 6,200 บาท
  • รุ่น 2 เลขธรรมดา ลายเซ็น เภา สภาพ UNC ราคาประมาณ 35,400 - 37,200 บาท
  • รุ่น 2 เลขธรรมดา ลายเซ็น เภา สภาพ EF ราคาประมาณ 20,000 - 21,000 บาท
  • รุ่น 3 เลขธรรมดา ลายเซ็น เภา สภาพ UNC ราคาประมาณ 16,000 - 48,300 บาท
  • รุ่น 3 เลขธรรมดา ลายเซ็น เภา สภาพ EF ราคาประมาณ 10,600 - 11,200 บาท
  • รุ่น 3 เลขธรรมดา ลายเซ็น เล้ง สภาพ EF ราคาประมาณ 9,900 - 10,500 บาท
  • รุ่น 4 เลขธรรมดา ลายเซ็น เล้ง สภาพ VF ราคาประมาณ 35,400 - 37,200 บาท

    ราคานี้อัพเดทเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560

    ข้อมูลธนบัตร

    ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยไม่สามารถสั่งพิมพ์ธนบัตรจากบริษัทโทมัสเดอลารู ประเทศอังกฤษได้ เพราะอังกฤษอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร ไทยจึงประสบปัญหาขาดแคลนธนบัตร รัฐบาลจึงได้ขอให้ประเทศญี่ปุ่นผลิตธนบัตรให้โดยมีบริษัท Mitsui Bussan Kaisha เป็นตัวแทนติดต่อกับโรงพิมพ์ธนบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่น

    ธนบัตรที่สั่งพิมพ์จากประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับในช่วงหลังๆ แตกต่างไปจากรุ่นแรกๆ เนื่องจากในช่วงหลังๆ ญึ่ปุ่นถูกโจมตีจากฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างหนัก ทำให้วัสดุที่ใช้ในการผลิตธนบัตรขาดแคลน

    การขนส่งธนบัตรมีทั้งขนส่งทางอากาศและทางทะเล ในการขนส่งทางทะเลนั้นเมื่อการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตรรุนแรงขึ้น จึงได้เปลี่ยนจากการขนส่งมาที่ท่าเรือกรุงเทพไปที่ท่าเรือสิงคโปร์แล้วลำเลียงเข้ากรุงเทพทางรถไฟแทน ครั้งหนึ่งเมื่อรถไฟมาถึงสถานีท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี ได้มีคนร้ายลักลอบถีบหีบธนบัตรลงจากรถไฟ ธนบัตรที่ถูกลักไปมีชนิด 5 บาท 74,000 ฉบับ ชนิด 10 บาท 224,000 ฉบับ ชนิด 20 บาท 72,000 ฉบับ และชนิด 100 บาท 40,968 ฉบับ และต่อมาพบธนบัตรดังกล่าวมีการพิมพ์ปลอมลายเซ็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้ามาหมุนเวียนในระบบ กระทรวงการคลังได้ออกประกาศวันที่ 24 ส.ค. 2489 แจ้งหมายเลขที่ผิดกฎหมาย และเพื่อมิให้ผู้สุจริตเสียหาย จึงจำเป็นต้องสอบสวนในบางกรณีว่าได้มาโดยสุจริตหรือไม่ ธนบัตรปลอมกลุ่มนี้เรียกกันว่า ธนบัตรไทยถีบ หรือธนบัตรเล้งท่าฉาง

    ธนบัตร 10 บาท รุ่น 1 ประกาศออกใช้เมื่อวันที่ 28 พ..ค. 2485
    ธนบัตร 10 บาท รุ่น 2 ประกาศออกใช้เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2485
    ธนบัตร 10 บาท รุ่น 3 ประกาศออกใช้เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2487
    ธนบัตร 10 บาท รุ่น 4 ประกาศออกใช้เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2488

    ขนาดธนบัตร

    8.50 x 14.50 เซนติเมตร

    ธนบัตรด้านหน้า

    องค์ประกอบสำคัญคือพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเครื่องแบบจักรีอยู่เบื้องขวา ด้านซ้ายเป็นภาพประตูซุ้มยอดมงกุฎ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตรงกลางเป็นภาพลายเฟื่องเป็นพื้นหลังของข้อความ "รัฐบาลไทย" มีรูปไอราพตที่มุมขวาล่าง หมวดอักษรและหมายเลขพิมพ์ด้วยหมึกสีแดง

    ธนบัตรด้านหลัง

    ภาพประธานคือภาพวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวังอยู่ภายในกรอบล้อมรอบด้วยลายเฟื่อง มีลายน้ำรูปพานรัฐธรรมนูญ พิมพ์ข้อความแจ้งโทษของการปลอมแปลงธนบัตรไว้ที่ตรงกลางด้านล่าง

    ลายมือชื่อบนธนบัตร

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
    พลเอก เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ (17 ธ.ค. 2484 - 1 ส.ค. 2487)
    นายเล้ง ศรีสมวงศ์ (10 ม.ค. 2488 - 31 ส.ค. 2488)