ธนบัตร 1000 บาท ด้านหน้า
ธนบัตร 1000 บาท ด้านหลัง

ราคาโดยประเมิน

  • เลขธรรมดา ลายเซ็น เภา สภาพ VF ราคาประมาณ 295,000 - 301,000 บาท

    ราคานี้อัพเดทเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560

    ข้อมูลธนบัตร

    ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยไม่สามารถสั่งพิมพ์ธนบัตรจากบริษัทโทมัสเดอลารู ประเทศอังกฤษได้ เพราะอังกฤษอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร ไทยจึงประสบปัญหาขาดแคลนธนบัตร รัฐบาลจึงได้ขอให้ประเทศญี่ปุ่นผลิตธนบัตรให้โดยมีบริษัท Mitsui Bussan Kaisha เป็นตัวแทนติดต่อกับโรงพิมพ์ธนบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่น

    ธนบัตรที่สั่งพิมพ์จากประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับในช่วงหลังๆ แตกต่างไปจากรุ่นแรกๆ เนื่องจากในช่วงหลังๆ ญึ่ปุ่นถูกโจมตีจากฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างหนัก ทำให้วัสดุที่ใช้ในการผลิตธนบัตรขาดแคลน

    ธนบัตร 1000 บาทนี้ประกาศออกใช้เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2487

    ต่อมาในปี พ.ศ. 2488 ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงรัฐบาลประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อรุนแรงเนื่องจากราคาสินค้าสูงเพราะการกักตุนสินค้า รัฐบาลจึงออกมาตรการดูดซับเงินออกจากระบบด้วยการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดพันธบัตรออมทรัพย์ในภาวะคับขันเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2488 เปลี่ยนธนบัตร 1000 บาท ทุกแบบที่ออกมาก่อนหน้านี้ให้เป็นพันธบัตรออมทรัพย์ ธนบัตร 1000 บาทดังกล่าวจึงกลายเป็นเงินที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ผู้ถือธนบัตรต้องนำมาจดทะเบียนเป็นพันธบัตรที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กำนดระยะเวลาไถ่ถอน 12 เดือน ดอกเบี้ย 1% ต่อปี

    ขนาดธนบัตร

    10.00 x 17.50 เซนติเมตร

    ธนบัตรด้านหน้า

    องค์ประกอบสำคัญคือพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเครื่องแบบจักรีอยู่เบื้องขวา ด้านซ้ายเป็นภาพพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตรงกลางเป็นภาพลายเฟื่องเป็นพื้นหลังของข้อความ "รัฐบาลไทย" มีรูปไอราพตที่มุมขวาล่าง หมวดอักษรและหมายเลขพิมพ์ด้วยหมึกสีแดง

    ธนบัตรด้านหลัง

    ภาพประธานคือภาพวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวังอยู่ภายในกรอบล้อมรอบด้วยลายเฟื่อง มีลายน้ำรูปพานรัฐธรรมนูญในวงกลม พิมพ์ข้อความแจ้งโทษของการปลอมแปลงธนบัตรไว้ที่ตรงกลางด้านล่าง

    ลายมือชื่อบนธนบัตร

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
    พลเอก เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ (17 ธ.ค. 2484 - 1 ส.ค. 2487)