ธนบัตร 50 บาท แบบ 13 ด้านหน้า
ธนบัตร 50 บาท  แบบ 13 ด้านหลัง

ราคาโดยประเมิน

  • เลขธรรมดา ลายเซ็น วีรพงษ์-ชวลิต สภาพ UNC ราคาประมาณ 270 - 285 บาท
  • เลขธรรมดา ลายเซ็น ธารินทร์-วิจิตร สภาพ UNC ราคาประมาณ 130 - 150 บาท
  • เลขสวย x000000 ลายเซ็น สมหมาย-กำจร สภาพ UNC ราคาประมาณ 5,900 - 6,100 บาท

    ราคานี้อัพเดทเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2560

    ข้อมูลธนบัตร

    ธนบัตรแบบ 13 นี้ ออกแบบมาในคอนเซ็ปต์ "ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี" เพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จึงได้นำภาพเหตุการณ์สำคัญนับแต่แรกสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง และการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยมาใส่ในธนบัตร

    ธนบัตร 50 บาท แบบ 13 นี้เป็นชนิดราคาแรกของธนบัตรแบบ 13 ถูกประกาศออกใช้เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2528 และเริ่มจ่ายแลกเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2528

    ลวดลายส่วนใหญ่ของธนบัตร 50 บาท แบบ 13 นี้ยังถูกนำไปใช้ในการผลิตธนบัตรที่ระลึกอีก 2 แบบในโอกาสต่อมา คือ

  • ธนบัตรที่ระลึกสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา ในปี 2533
  • ธนบัตรที่ระลึกฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 ปีกาญจนาภิเษก 2539 โดยผลิตเป็นธนบัตรโพลิเมอร์

    ขนาดธนบัตร

    7.20 x 14.40 เซนติเมตร

    ธนบัตรด้านหน้า

    สีหลักของธนบัตรเป็นสีฟ้า มีภาพประธานเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 9 อยู่ตรงกลางขวา ทรงเครื่องแบบจอมทัพ ทรงฉลองพระองค์ครุย มีรูปพระครุฑพ่าห์อยู่ตรงมุมบนซ้าย และมีคำว่า รัฐบาลไทย อยู่ตรงกลาง เว้นที่ว่างด้านซ้ายล่างเป็นลายน้ำ ลายพื้นตรงกลางซ้ายเป็นรูปจักรและตรี

    ธนบัตรด้านหลัง

    ภาพประธานคือภาพพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เบื้องหน้าอาคารรัฐสภาภายในบริเวณพระราชวังดุสิต มีภาพพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นภาพประกอบด้านซ้าย มุมบนซ้ายเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 7 และพระปรมาภิไธยอยู่ภายในวงกลม

    ลายมือชื่อบนธนบัตร

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
    นายสมหมาย ฮุนตระกูล (7 พ.ค. 2526 - 10 ส.ค. 2529)
    นายสุธี สิงห์เสน่ห์ (11 ส.ค. 2529 - 8 ส.ค. 2531)
    นายประมวล สภาวสุ (9 ส.ค. 2531 - 26 ส.ค. 2533)
    นายวีรพงษ์ รามางกูร (26 ส.ค. 2533 - 13 ธ.ค. 2533)
    นายบรรหาร ศิลปอาชา (14 ธ.ค. 2533 - 23 ก.พ. 2534)
    นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ (28 ก.ย. 2535 - 17 ก.ค. 2538)

    ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
    นายกำจร สถิรกุล (14 ก.ย. 2527 - 5 มี.ค. 2533)
    นายชวลิต ธนะชานันท์ (6 มี.ค. 2533 - 30 ก.ย. 2533)
    นายวิจิตร สุพินิจ (1 ต.ค. 2533 - 1 ก.ค. 2539)

    เทคโนโลยีที่ใช้ในการต่อต้านการปลอมแปลง

    การพิมพ์หมึกนูน ลายน้ำในเนื้อกระดาษ ตำแหน่งพระครุฑพ่าห์ที่ด้านหน้าด้านหลังตรงกันเมื่อยกส่องจะซ้อนกันสนิท ฝังแถบเส้นมั่นคงลงในเนื้อกระดาษ

    ข้อมูลอ้างอิง

    ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๒๐ ฉบับพิเศษ หน้า ๑ วันที่ ๕ กันยายน๒๕๒๘