ราคาโดยประเมิน
ราคานี้อัพเดทเมื่อ 7 ธันวาคม 2560
ข้อมูลธนบัตร
ในปี 2488 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 การสู้รบในแถบเอเชียมีความรุนแรงขึ้น ธนบัตรที่สั่งพิมพ์ที่ผลิตจากประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถลำเลียงส่งมาได้เนื่องจากฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีเส้นทางการขนส่งลำเลียงของกองทัพญี่ปุ่นอย่างหนัก ธนบัตรในส่วนที่รัฐบาลไทยควบคุมการผลิตเองก็ทำได้ไม่เต็มที่เพราะต้องคอยหลบภัยทางอากาศจากการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตร อีกทั้งภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ความต้องการใช้ธนบัตรมีมากขึ้น จึงเกิดภาวะขาดแคลนธนบัตรอย่างมาก
รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจให้โรงพิมพ์ของทางราชการรวมไปถึงโรงพิมพ์เอกชนที่มีผลงานในระดับมาตรฐานพิมพ์ธนบัตรให้ โดยแยกหน้าที่การพิมพ์ตัวธนบัตรและการพิมพ์หมายเลขและลายเซ็นเป็นคนละโรงพิมพ์เพื่อเป็นการควบคุมด้านความปลอดภัย
ธนบัตรแบบ 7 นี้พิมพ์ขึ้นเป็นการเร่งด่วนในขณะที่กระดาษและหมึกพิมพ์มีอยู่อย่างจำกัด คุณภาพของธนบัตรจึงไม่ดีเท่าที่ควร การผสมสีหมึกพิมพ์ก็ไม่ได้มาตรฐานทำให้ธนบัตรชนิดราคาเดียวกันมีสีที่ค่อนข้างแตกต่างกัน
ธนบัตร 50 บาท แบบ 7 นี้ถูกประกาศออกใช้เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2488
ธนบัตร 50 บาทนี้เมื่อแรกใช้กระดาษปอนด์อย่างดีที่บังคับซื้อมาจากท้องตลาด เมื่อหมดแล้วจึงใช้กระดาษจากโรงงานกระดาษไทย จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นกระดาษที่มีลายน้ำเป็นรูปริ้วคลื่น กระดาษจึงมีสีแตกต่างกัน ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศลงวันที่ 20 พ.ย. 2489 ให้ยกเลิกธนบัตร 50 บาท แบบ 7 ไม่ให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2489
ขนาดธนบัตร
8.70 x 14.70 เซนติเมตร
หมวดอักษรและหมายเลข
เริ่มตั้งแต่ ธ ๑ เป็นต้นไป
ธนบัตรด้านหน้า
องค์ประกอบสำคัญคือพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลอยู่เบื้องซ้าย ตรงกลางเป็นภาพพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม มีภาพช้างสามเศียรไอราพตอยู่ที่มุมขวาล่าง หมวดอักษรและหมายเลขพิมพ์ด้วยหมึกสีแดง พิมพ์รูปพานรัฐธรรมนูญตรงตำแหน่งวงกลมข้างขวา
ธนบัตรด้านหลัง
ภาพประธานคือภาพพระที่นั่งอนันตสมาคมอยู่ภายในกรอบล้อมรอบด้วยลายเฟื่อง พิมพ์ข้อความแจ้งโทษของการปลอมแปลงธนบัตรไว้ที่ตรงกลางด้านล่าง
ลายมือชื่อบนธนบัตร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายเล้ง ศรีสมวงศ์ (10 ม.ค. 2488 - 31 ส.ค. 2488)
นายดิเรก ชัยนาม (1 ก.ย. 2488 - 1 ก.พ. 2489)