ราคาโดยประเมิน
ราคานี้อัพเดทเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2560
ข้อมูลธนบัตร
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปริมาณธนบัตรที่มีใช้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งธนบัตรมีสภาพชำรุดรวดเร็วเพราะธนบัตรบางส่วนที่ผลิตได้ในประเทศมีคุณภาพไม่ดีนัก รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มการผลิตธนบัตรโดยให้กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือช่วยพิมพ์อีกแห่งหนึ่ง โดยใช้กระดาษจากโรงงานกระดาษไทย กาญจนบุรี
ธนบัตร 100 บาท รุ่น 1 นี้มีรูปแบบเหมือนธนบัตร 100 บาท แบบ 4 กรมแผนที่ทหารบก แต่สีที่ใช้พิมพ์ลายเฟื่องตรงคำว่ารัฐบาลไทยใช้เพียงสีม่วงอ่อนเพียงสีเดียวเพื่อลดขั้นตอนการผลิตและเป็นการประหยัดหมึกพิมพ์
ธนบัตรที่พิมพ์จากกรมแผนที่ทหารบกจะมีคำว่า "กรมแผนที่" อยู่ตรงกลางด้านล่าง แต่หากเป็นธนบัตรที่พิมพ์จากกรมอุทกศาสตร์ทหารเรือจะไม่มีการพิมพ์ชื่อสถานที่พิมพ์
ด้านหลังธนบัตรมีการประทับตราพระสยามเทวาธิราชด้วยหมึกแดงพร้อมหมวดอักษรและหมายเลขตรงกับด้านหน้าเพื่อใช้ตรวจพิสูจน์เนื่องจากเป็นธนบัตรราคาสูง
ธนบัตร 100 บาท แบบ 6 รุ่น 1 นี้ถูกประกาศออกใช้เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2488
ขนาดธนบัตร
8.70 x 14.70 เซนติเมตร
หมวดอักษรและหมายเลข
เริ่มตั้งแต่ ป ๑ เป็นต้นไป
ธนบัตรด้านหน้า
องค์ประกอบสำคัญคือพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเครื่องแบบจักรีอยู่เบื้องซ้าย ตรงกลางเป็นภาพประตูซุ้มยอดมงกุฎ วัดอรุณราชวราราม มีภาพช้างสามเศียรไอราพตอยู่ที่มุมขวาล่าง หมวดอักษรและหมายเลขพิมพ์ด้วยหมึกสีแดง
ธนบัตรด้านหลัง
ภาพประธานคือภาพพระที่นั่งอนันตสมาคมอยู่ภายในกรอบล้อมรอบด้วยลายเฟื่อง พิมพ์ข้อความแจ้งโทษของการปลอมแปลงธนบัตรไว้ที่ตรงกลางด้านล่าง
ลายมือชื่อบนธนบัตร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายเล้ง ศรีสมวงศ์ (10 ม.ค. 2488 - 31 ส.ค. 2488)
นายดิเรก ชัยนาม (1 ก.ย. 2488 - 1 ก.พ. 2489)