ธนบัตร 1 บาท แบบ 4 ด้านหน้า
ธนบัตร 1 บาท (มี 5 รุ่น พิมพ์ออกใฃ้ปี 2481 - 2489)

ธนบัตร 5 บาท แบบ 4 ด้านหน้า
ธนบัตร 5 บาท (มี 2 รุ่น พิมพ์ออกใช้ปี 2482)

ธนบัตร 10 บาท แบบ 4 ด้านหน้า
ธนบัตร 10 บาท (มี 4 รุ่น พิมพ์ออกใช้ปี 2482 - 2488)

ธนบัตร 20 บาท แบบ 4 ด้านหน้า
ธนบัตร 20 บาท (มี 2 รุ่น พิมพ์ออกใช้ปี 2482 - 2486)

ธนบัตร 100 บาท แบบ 4 ด้านหน้า
ธนบัตร 100 บาท (ปี 2487)

ธนบัตร 1000 บาท แบบ 4 ด้านหน้า
ธนบัตร 1000 บาท (มี 2 รุ่น พิมพ์ออกใช้ปี 2482)

ราคาโดยประเมิน คลิกดูในธนบัตรแต่ละแบบ


ข้อมูลธนบัตร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จขึ้นครองราชในปี 2477 ในช่วงเริ่มรัชกาลนั้นรัฐบาลยังคงนำธนบัตรแบบ 3 ที่ยังมีอยู่ทยอยออกใช้และได้เตรียมการสั่งบริษัทโทมัสเดอลารูพิมพ์ธนบัตรแบบ 4 โดยสั่งพิมพ์ 5 ราคา คือ 1, 5, 10, 20 และ 1000 บาท โดยธนบัตร 1 บาทเป็นแบบแรกที่นำออกใช้ในปี 2481

ปี 2484 สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นในยุโรป ผลของสงครามในช่วงต้นยังไม่กระทบถึงไทยจนกระทั่งประเทศญี่ปุ่นได้บุกถล่มสหรัฐที่ฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ในแปซิฟิกเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2484 และในวันถัดมากองทัพญี่ปุ่นบุกขึ้นชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้ของไทย จนไทยต้องยอมให้ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นทางผ่านในการเข้ายึดประเทศข้างเคียงที่เป็นอาณานิคมของคู่สงคราม และในปีต่อมาประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในไทยทำให้ไทยต้องประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร

หน่วยงานธนาคารแห่งประเทศไทยถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเร่งด่วนตามข้อเสนอของญี่ปุ่นเพื่อรักษาเสียรภาพทางการเงินของประเทศ มีการปรับค่าแลกเปลี่ยนเงินเยนเป็น 100 เยนต่อ 100 บาท การจ่ายเงินสนับสนุนการสงครามจากรัฐบาลญี่ปุ่นในไทยใช้เป็นเงินบาท และการจ่ายคืนจะจ่ายด้วยทองคำหรือเงินเยน ปริมาณเงินบาทในไทยจึงสูงขึ้นในขณะที่การสั่งพิมพ์ธนบัตรจากบริษัทโทมัสเดอลารูไม่สามารถทำได้อีกต่อไปเนื่องจากบริษัทเป็นของประเทศอังกฤษซึ่งเป็นคู่สงคราม

ไทยได้ร้องขอให้ญี่ปุ่นช่วยพิมพ์ธนบัตรให้ซึ่งในช่วงต้นก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดี ในขณะเดียวกันก็ได้จัดพิมพ์ธนบัตรด้วยตัวเองแม้จะไม่เคยมีประสบการณ์เพื่อรองรับสถานการณ์สงครามที่อาจรุนแรงมากขึ้นจนไม่สามารรถพิ่งพาการผลิตธนบัตรจากระเทศญี่ปุ่นได้

รัฐบาลมอบหมายให้กรมแผนที่ทหารบกจัดพิมพ์ธนบัตรโดยใช้กระดาษที่ผลิตจากโรงงานกระดาษไทยที่จังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงแรกญี่ปุ่นได้สนับสนุนเยื่อกระดาษจากเยื่ออ้อยจากญี่ปุ่นซึ่งมีความเหนียวและขาว เมื่อใช้หมดแล้วจึงจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบที่หาได้ในประเทศเช่นเยื่อไผ่หรือเยื่อฟางข้าวซึ่งสีของกระดาษที่ได้จะหม่นไม่ขาวเหมือนช่วงแรก

มีการโรยใยไหมสีแดงและสีน้ำเงินลงบนเนื้อกระดาษรวมถึงการทำลายน้ำเพื่อเป็นการต่อต้านการปลอมแปลง การโรยเส้นใยไหมทำโดยนำใยไหมที่ผ่านการตีผ้าห่มขนสัตว์ซึ่งกองทัพญี่ปุ่นจ่ายให้เชลยศึกฝรั่งแล้วมาเทไหลตามรางผ่านแนวตั้งของกระดาษพิมพ์ซึ่งต้องตรงตามตำแหน่งกลางฉบับธนบัตร ปัญหาที่พบคือบางครั้งเส้นใยเกาะกันทำให้ไปรวมกระจุกกันอยู่บนผิวกระดาษ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นตีเยื่อให้กระจายแล้วผสมในน้ำเยื่อกระดาษให้กระจายทั่วบนแผ่น

ในส่วนของลายน้ำในช่วงต้นเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญ ทำโดยการทำตราโลหะเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญกดทับลงในขั้นตอนผลิตกระดาษที่ยังไม่แห้ง ตำแหน่งกดต้องพอดีกับที่จะพิมพ์ลายบนหน้าธนบัตรในตำแหน่งวงกลมที่ว่าง ซึ่งมีโอกาสในการคลาดเคลื่อนจากหลายสาเหตุ ต่อมาจึงเปลี่ยนรูปแบบลายน้ำเป็นรูปลายคลื่นทั่วทั้งธนบัตรซึ่งทำได้ง่ายกว่าโดยการสร้างแม่พิมพ์ขดลวดกลิ้งทับในขั้นตอนผลิตกระดาษ จึงหมดความกังวลเรื่องตำแหน่งลายน้ำไม่สัมพันธ์กับลวดลายพิมพ์สีบนหน้าธนบัตร