ธนบัตร 1 บาท แบบ 8 ด้านหน้า
ธนบัตร 1 บาท (ปี 2489 - 2492)

ธนบัตร 5 บาท แบบ 8 ด้านหน้า
ธนบัตร 5 บาท (ปี 2489 - 2491)

ธนบัตร 10 บาท แบบ 8 ด้านหน้า
ธนบัตร 10 บาท (ปี 2489 - 2491)

ธนบัตร 20 บาท แบบ 8 ด้านหน้า
ธนบัตร 20 บาท (ปี 2489 - 2491)

ธนบัตร 100 บาท แบบ 8 ด้านหน้า
ธนบัตร 100 บาท (ปี 2489 - 2491)

ราคาโดยประเมิน คลิกดูในธนบัตรแต่ละแบบ


ข้อมูลธนบัตร

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ว่าประเทศจะอยู่ในภาวะขาดแคลนธนบัตรแต่รัฐบาลก็เข้าแก้ไขโดยการพิมพ์ธนบัตรเอง คุณภาพของธนบัตรที่พิมพ์ขึ้นเองถึงจะมีคุณภาพไม่ดีนักแต่ก็ไม่พบการปลอมแปลงเนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้ควบคุมโรงพิมพ์และผู้จำหน่ายอุปกรณ์การพิมพ์ทุกแห่งทำให้ผู้คิดจะทำการปลอมแปลงหาวัสดุเกี่ยวกับการพิมพ์ได้ยาก

ต้นปี พ.ศ. 2488 ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองยุติลงรัฐบาลประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อรุนแรงเนื่องจากราคาสินค้าสูงเพราะการกักตุนสินค้า รัฐบาลจึงออกมาตรการดูดซับเงินออกจากระบบด้วยการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดพันธบัตรออมทรัพย์ในภาวะคับขันเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2488 เปลี่ยนธนบัตร 1000 บาท ทุกแบบที่ออกมาก่อนหน้านี้ให้เป็นพันธบัตรออมทรัพย์ ธนบัตร 1000 บาทดังกล่าวจึงกลายเป็นเงินที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ผู้ถือธนบัตรต้องนำมาจดทะเบียนเป็นพันธบัตรที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กำนดระยะเวลาไถ่ถอน 12 เดือน ดอกเบี้ย 1% ต่อปี ธนบัตร 1000 บาทจึงถูกดูดกลับเข้าธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถบรรเทาปัญหาลงได้ระดับหนึ่ง

เมื่อสงครามสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม 2488 การปลอมแปลงธนบัตรเริ่มมีการแพร่หลายขึ้นอีกครั้ง โดยพบการระบาดอย่างยิ่งของธนบัตรปลอม 20 บาทและ 50 บาท ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาโดยการจะยกเลิกธนบัตรทั้ง 2 ชนิดราคานี้

เนื่องจากการจะประกาศยกเลิกดังกล่าวจะมีผลให้จำนวนธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบจะมีความตึงตัว รัฐบาลจึงได้เตรียมการล่วงหน้าด้วยการติดต่อสั่งพิมพ์ธนบัตรเพิ่มจากบริษัทโทมัสเดอลารู ประเทศอังกฤษเพื่อให้ทันต่อการแลกธนบัตรที่จะยกเลิก แต่เนื่องจากบริษัทยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะสงครามจึงไม่สามารถผลิตให้ได้ รัฐบาลไทยจึงติดต่อไปยังบริษัท Tudoor Press Inc. สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตให้

ในระหว่างที่รอการผลิตและส่งธนบัตรมา รัฐบาลก็นำเอาธนบัตร 10 บาทแบบพิเศษที่พิมพ์แก้ราคาเป็น 50 สตางค์ และธนบัตร 1 บาทแบบบุกมาใช้บรรเทาปัญหาการขาดแคลนธนบัตรไปก่อน จนเมื่อเดือนตุลาคม 2489 ซึ่งสิ้นยุครัชกาลที่ 8 ไปแล้วธนบัตรที่สั่งพิมพ์ไว้ล็อตแรกก็ส่งมาถึง รัฐบาลจึงมีความพร้อมในการประกาศยกเลิกธนบัตร

รัฐบาลได้ประกาศเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2489 ให้ยกเลิกการใช้ธนบัตร 20 บาทและ 50 บาทที่ออกมาก่อนหน้านี้ ให้ผู้ถือธนบัตรดังกล่าวมาแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรราคาอื่นได้ภายใน 6 เดือน หรือจะใช้ชำระหนี้แก่รัฐบาล เช่นค่าภาษี ค่าธรรมเนียม ค่าไปรษณีย์ได้เท่านั้น

ธนบัตรแบบ 8 ซึ่งเป็นธนบัตรแบบใหม่นี้มี 5 ชนิดราคา คือ 1 บาท 5 บาท 10 บาท 20 บาทและ 100 บาท พิมพ์ลวดลายด้วยวิธี Wet offset ด้านหน้าพิมพ์ 4 สี ด้านหลังพิมพ์ 2 สี ใช้กระดาษพิมพ์ของกองทัพสหรัฐซึ่งมีไว้สำหรับพิมพ์ธนบัตรที่ใช้ในเขตที่ยึดครองได้ในยุโรปหลังสงคราม เนื้อกระดาษจึงมีลายน้ำ "MILITARY AUTHORITY" และเมื่อกระดาษลายน้ำนี้หมดจึงใช้กระดาษที่ไม่มีลายน้ำ แต่ป้องกันการปลอมและเป็นจุดตรวจสอบภายหลังด้วยการพิมพ์ลำดับตำแหน่งของธนบัตรด้วยหมึกดำ เลขที่ 1 - 70 ตรงมุมล่างขวาในธนบัตรราคา 1 บาท 5 บาทและ 10 บาท ส่วนธนบัตรราคา 20 บาทและ 100 บาท พิม์เลข 1 - 50 ด้วยหมึกดำ ณ บริเวณเดียวกัน

รัฐบาลได้สั่งพิมพ์ธนบัตรแบบ 8 นี้มากกว่า 300 ล้านฉบับ แต่เดิมธนบัตรที่สั่งพิมพ์เข้ามาจะนำมาพิมพ์ลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามบนธนบัตรในประเทศไทยเพื่อป้องกันปัญหาจากการสูญหายก่อนส่งมาถึง แต่เนื่องจากครั้งนี้เป็นภาวะเร่งด่วนไม่สามารถรอกระบวนการพิมพ์ลายมือชื่อในไทยที่อาจต้องใช้เวลาถึง 2 ปีได้ กระทรวงการคลังจึงสั่งให้พิมพ์ลายมือชื่อจากสหรัฐอเมริกามาเลยในธนบัตรทุกชนิดราคายกเว้นธนบัตร 100 บาทซึ่งจะทำการพิมพ์ลายมือชื่อในไทย ต่อมาเมื่อธนบัตรเพียงพอต่อการใช้งานแล้วจึงนำธนบัตรทุกชนิดราคามาพิมพ์ลายมือชื่อในไทยเหมือนเช่นเดิม