ธนบัตร 100 บาท แบบ 8 ด้านหน้า
ธนบัตร 100 บาท  แบบ 8 ด้านหลัง

ราคาโดยประเมิน

  • เลขธรรมดา ลายเซ็น วิจิตร-ส. สภาพ VF ราคาประมาณ 7,100 - 7,500 บาท
  • เลขธรรมดา ลายเซ็น วิวัฒนไชย-เล้ง สภาพ UNC ราคาประมาณ 31,000 - 32,000 บาท
  • เลขธรรมดา ลายเซ็น วิวัฒนไชย-เล้ง สภาพ VF ราคาประมาณ 21,000 - 22,000 บาท

    ราคานี้อัพเดทเมื่อ 5 ธันวาคม 2560

    ข้อมูลธนบัตร

    ธนบัตร 100 บาทแบบ 8 เป็นธนบัตรที่ผลิตจากสหรัฐอเมริกาเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งจะยุติ เป็นธนบัตรที่พิมพ์ด้วยระบบ Wet offset ด้านหน้าพิมพ์ 4 สี ด้านหลังพิมพ์ 2 สี ใช้กระดาษพิมพ์ของกองทัพสหรัฐซึ่งมีไว้สำหรับพิมพ์ธนบัตรที่ใช้ในเขตที่ยึดครองได้ในยุโรปหลังสงคราม เนื้อกระดาษจึงมีลายน้ำ "MILITARY AUTHORITY" และเมื่อกระดาษลายน้ำนี้หมดจึงใช้กระดาษที่ไม่มีลายน้ำ แต่ป้องกันการปลอมและเป็นจุดตรวจสอบภายหลังด้วยการพิมพ์ลำดับตำแหน่งของธนบัตรด้วยหมึกดำ เลขที่ 1 - 50 ไว้ 2 จุดตรงมุมล่างขวาและมุมบนซ้ายของธนบัตร

    ธนบัตร 100 บาท แบบ 8 นี้ถูกประกาศออกใช้เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2489

    ขนาดธนบัตร

    6.60 x 15.60 เซนติเมตร

    หมวดอักษรและหมายเลข

    E 00000001 A - E 11000000 A

    ธนบัตรด้านหน้า

    องค์ประกอบสำคัญคือพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลอยู่เบื้องซ้าย ตรงกลางเป็นภาพพระปฐมเจดีย์ มีภาพช้างสามเศียรไอราพตอยู่ที่มุมขวาล่าง หมวดเลขหมายใช้ตามแบบอย่างธนบัตรสหรัฐซึ่งใช้เลข 8 หลัก มีหมวดอักษรโรมันประกบหน้าหลัง

    ธนบัตรด้านหลัง

    ภาพหลักคือภาพรัฐธรรมนูญประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้าล้อมรอบด้วยลวดลายใบผักกาดและลายเครือ

    ลายมือชื่อบนธนบัตร

  • วิจิตร - ส.
  • วิวัฒนไชย - เล้ง

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
    นายวิจิตร ลุลิตานนท์ (24 ส.ค. 2489 - 8 พ.ย. 2490)
    พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย (11 พ.ย. 2490 - 8 เม.ย. 2491)

    ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
    นายเสริม วินิจฉัยกุล (17 ต.ค. 2489 - 24 พ.ย. 2490)
    นายเล้ง ศรีสมวงศ์ (25 พ.ย. 2490 - 2 ก.ย. 2491)

    เทคโนโลยีที่ใช้ในการต่อต้านการปลอมแปลง

    ลายน้ำในเนื้อกระดาษ รหัสตัวเลขบนหน้าธนบัตร